ข่าวประชาสัมพันธ์งานส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต เรื่องหนอนหัวดำมะพร้าว กำจัดอย่างไรให้ปลอดภัย

          หนอนหัวดำมะพร้าวเป็นอีกหนึ่งศัตรูพืชที่สร้างความเสียหายให้แก่ผลผลิตของเกษตรกรมาอย่างมหาศาล หนอนหัวดำมะพร้าวเป็นศัตรูพืชต่างถิ่นที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย และศรีลังกา เริ่มเข้ามาระบาดในประเทศไทยที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รูปร่างและลักษณะของหนอนหัวดำมะพร้าว มีลำตัวสีเหลือง  มีหัวสีดำ เมื่อมีอายุมากขึ้นสีของหัวก็จะเข้มขึ้น และสีของลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีลายพาดตามลำตัว เมื่อโตเต็มวัยจะลอกคราบและกลายเป็นเป็นผีเสื้อ แล้วเริ่มแพร่พันธุ์ด้วยการวางไข่ต่อไป
          สำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต แนะนำเกษตรกรและโรงแรมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตที่มีการปลูกพืชตระกูลปาล์มได้แก่ มะพร้าว อินทผลาลัม หมาก และต้นปาล์ม เฝ้าระวังการเข้าทำลายของหนอนหัวดำมะพร้าว ซึ่งสามารถพบได้ทั้งในระยะที่ต้นมะพร้าวยังไม่ให้ผลผลิตและให้ผลผลิตแล้ว จะพบว่าตัวหนอนเข้าทำลายโดยการแทะผิวใต้ทางใบมะพร้าว จากนั้นตัวหนอนจะถักใยโดยใช้ใลที่ถ่ายออกมาผสมเส้นใยที่สร้างขึ้นนำมาทำอุโมงค์คลุมลำตัวยาวตามทางใบ ตัวหนอนจะอาศัยอยู่ภายในอุโมงค์ที่สร้างขึ้นและแทะกินผิวใบแก่
          กรณีระบาดรุนแรง จะพบหนอนหัวดำมะพร้าวทำลายก้านทางใบ จั่น และผลมะพร้าว ตัวหนอนจะถักใยดึงใบมะพร้าวมาเรียงติดกันเป็นแพ เมื่อตัวหนอนโตเต็มที่จะถักใยหุ้มลำตัวเพื่อเข้าดักแด้อยู่ในอุโมงค์ ดักแด้มีสีน้ำตาลเข้ม ดักแด้เพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าดักแด้เพศเมียเล็กน้อย ผีเสื้อหนอนหัวดำมะพร้าวที่ผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่บนเส้นใยอุโมงค์หรือซากใบที่ถูกทำลาย เมื่อตัวหนอนฟักออกจากไข่จะอยู่รวมเป็นกลุ่ม 1-2 วัน ก่อนจะย้ายไปกัดกินใบมะพร้าว จึงมักพบตัวหนอนหลายขนาดกัดกินอยู่ในใบเดียวกัน หากการเข้าทำลายรุนแรง   อาจส่งผลทำให้ต้นมะพร้าวตายได้
          สำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
เกษตรกรควรใช้วิธีป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน คือ วิธีเขตกรรม วิธีกล ชีววิธี และการใช้สารเคมี 
          1. วิธีเขตกรรมและวิธีกล ตัดใบที่มีหนอนหัวดำมะพร้าวนำไปเผาทำลายทันที ไม่ควร เคลื่อนย้ายต้นพันธุ์มะพร้าวหรือพืชตระกูลปาล์มมาจากแหล่งที่มีการระบาด 
          2. พ่นด้วยเชื้อบีที จำนวน 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 - 10 วัน อัตรา 80 - 100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมด้วยสารจับใบ อัตราตามคำแนะนำ 
          3. ปล่อยแตนเบียนไข่ทริโครแกรมมา เพื่อควบคุมระยะไข่ อัตราไร่ละ 10 แผ่น แผ่นละ 2,000 ตัว โดยปล่อย 12 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 15 วัน 
          4. ปล่อยแตนเบียนบราคอน เพื่อควบคุมระยะหนอน อัตราไร่ละ 200 ตัว กระจายทั่วทั้งแปลง โดยปล่อย 12 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 15 วัน
          5. ปล่อยแตนเบียนโกนีโอซัส นีแฟนติดิส เพื่อควบคุมระยะหนอน โดยปล่อยช่วงเวลาเย็น พลบค่ำ อัตราไร่ละ 200 ตัว ต่อครั้ง กระจายทั่วทั้งแปลง โดยปล่อยเดือนละครั้ง 
          6.การใช้สารเคมี
              6.1 ในมะพร้าวต้นสูงมากกว่า 12 เมตรขึ้นไป ให้เกษตรกรใช้สว่านเจาะรูที่ลำต้นให้รูอยู่สูงจากพื้นดิน 1 เมตร เอียงลง 45 องศา ลึก 10-15 เซนติเมตร เจาะ 2 รู ให้รูอยู่ตรงข้ามกันและต่างระดับกันเล็กน้อย จากนั้นให้ใช้สารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซีเข้มข้น ไม่ผสมน้ำฉีดเข้าลำต้นมะพร้าว อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น โดยฉีดสารฆ่าแมลงลงไปรูละ 15 มิลลิลิตร และปิดรูด้วยดินน้ำมัน วิธีนี้จะป้องกันกำจัดหนอนได้นานมากกว่า 3 เดือน และป้องกันกำจัดศัตรูชนิดอื่นได้ด้วย วิธีนี้ห้ามใช้กับมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวที่ใช้ทำน้ำตาลโดยเด็ดขาด
              6.2 สำหรับมะพร้าวที่ต้นสูงน้อยกว่า 12 เมตร รวมทั้งมะพร้าวกะทิ มะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวที่ใช้ทำน้ำตาลในพื้นที่ ระบาดรุนแรง และไม่ได้มีการปล่อยแตนเบียน ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารเคมีฟลูเบนไดอะไมด์ 20% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารสปินโนแซด 12% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารลูเฟนนูรอน 5%  อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม 1-2 ครั้ง ห่างกัน 15 วัน ซึ่งควรใช้เครื่องยนต์พ่นสารที่สามารถควบคุมแรงดันได้ และมีแรงดันไม่น้อยกว่า 30 บาร์ กรณีที่ปล่อยแตนเบียน ให้ปล่อยหลังพ่นสารเคมี 2 สัปดาห์ วิธีนี้ใช้เคลื่อนย้ายต้นพันธุ์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของหนอนหัวดำมะพร้าวได้เช่นกัน
 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar