เกษตรภูเก็ต เตือนเกษตรกรระวังโรค!!! ยอดเน่า รากเน่า ในสับปะรด

          นายสุบรรณ์ รักษ์ทอง เกษตรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตกชุก มีความชื้นในอากาศสูง เตือนผู้ปลูกสับปะรด ในระยะ ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคยอดเน่า รากเน่า (เชื้อรา Phytophthora spp.)  อาการที่ต้น ใบยอดมีสีซีด ที่โคนใบหรือฐานใบจะเน่าช้ำมีสีขาวอมเหลืองขอบแผลสีน้ำตาล ส่งกลิ่นเหม็นเฉพาะตัว เมื่อดึงส่วนยอดจะหลุดโดยง่าย หากอาการรุนแรงกลุ่มใบตรงกลางต้นจะหักล้มพับลงมา อาการที่ราก อาการเริ่มแรกจะเห็นใบมีสีซีดคล้ายอาการที่ต้น ใบด้านล่างนิ่มกว่าปกติและแห้งตายเข้ามาจากปลายใบ ต้นชะงักการเจริญเติบโต รากมีแผลสีน้ำตาล เปื่อยและเน่า ดึงหลุดออกมาจากดินโดยง่าย
อาการที่ผล ผลมีขนาดเล็ก ผลเน่าเป็นจุดสีเขียวเข้ม ผ่าดูภายในเนื้อเยื่อจะเน่าเป็นสีน้ำตาล
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
๑. เลือกพื้นที่ปลูกที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน
๒. แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำดี ไม่ควรมีน้ำท่วมขัง และเมื่อมีน้ำท่วมขังควรรีบระบายออก
๓. ใช้ส่วนขยายพันธุ์จากแหล่งที่ไม่พบการระบาดของโรค
๔. ก่อนปลูกแช่จุก หรือ หน่อพันธุ์ ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมทาแลกซิล ๒๕% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๒๐-๔๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม ๘๐% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา ๕๐-๑๐๐ กรัมต่อ น้ำ ๒๐ ลิตร หรือ ฟอสโฟนิก แอซิด ๔๐% เอสแอล อัตรา ๕๐-๖๐ มิลลิลิตรต่อน้ำ ๒๐ ลิตร นาน ๑๕-๒๐ นาที
๕. ตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบต้นเริ่มแสดงอาการของโรค พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ตามข้อ ๔ ทุก ๑ เดือน จำนวน ๒ ครั้ง
๖. ต้นที่เป็นโรครุนแรง ควรขุดออกนำไปทำลายนอกแปลง แล้วพ่นด้วยสาร ตามข้อ ๔ ลงดินบริเวณหลุมที่ขุด และต้นที่อยู่บริเวณโดยรอบ เพื่อป้องกันการระบาดของโรค
๗. หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต นำส่วนต่างๆ ของพืชที่เป็นโรคไปทำลายนอกแปลง
๘. ไม่นำเครื่องมือที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ และควรทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง
ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถขอคำแนะนำในการป้องกันและกำจัดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ  ใกล้บ้าน


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar