เกษตรจังหวัดภูเก็ต เตือนชาวสวนทุเรียนระวังโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน

          นายสุบรรณ์ รักษ์ทอง เกษตรจังหวัดภูเก็ต  แจ้งเตือนเกษตรกรชาวสวนทุเรียน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงให้ผลผลิต ให้เฝ้าระวังโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง ทุเรียนทุกระยะมีโอกาสเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราได้ อันจะทำให้ต้นทุเรียนอ่อนแอ กระทบต่อปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดได้ ซึ่งเชื้อราสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน คือ เชื้อราไฟทอปธอรา พาล์มิโวรา (Phytophthora palmivora)
          สำหรับ ลักษณะอาการของต้นที่เกิดโรค ใบจะไม่เป็นมันสดใส โดยใบค่อย ๆ เหลืองซีดและร่วง ใบอ่อนเหี่ยวเหลือง มีจุดแผลสีน้ำตาลอ่อนฉ่ำน้ำ เส้นใบมีสีน้ำตาลดำ บริเวณกิ่ง ลำต้น และโคนต้น มีสีของเปลือกเข้มคล้ายถูกน้ำเป็นวงหรือเป็นทางน้ำไหลลงด้านล่างหรือมีรอยแตกของแผล และมีน้ำเยิ้มออกมาในช่วงเช้า เมื่อถากเปลือกจะพบว่าเปลือกเน่า เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาล ส่วนที่เน่ามีกลิ่นหืน แผลเน่าจะลุกลามรวดเร็ว ต้นที่เป็นโรครุนแรงจะมีน้ำยางไหลออกมาโดยเฉพาะในช่วงเวลาเช้าที่มีอากาศชุ่มชื้น เมื่อขุดดูที่รากฝอยจะมีลักษณะเปื่อยยุ่ย มีสีน้ำตาล และหลุดง่าย กรณีอาการของโรครุนแรงจะเน่าลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นโทรมและยืนต้นตาย
          ทั้งนี้ ในส่วนของวิธีป้องกันกำจัด กรณีโรคเข้าทำลายไม่รุนแรง ให้ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก และใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ฮาร์เซียนั่ม (Trichoderma harzianum) ผสมกับรำข้าวและปุ๋ยหมัก ในอัตราเชื้อรา 1 กิโลกรัม รำข้าว 4 กิโลกรัม และปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม คลุกเคล้าให้เข้ากัน นำไปโรยรอบโคนต้น ในอัตรา 10-20 กรัมต่อต้น หรือหากโรคเข้าทำลายรุนแรง ให้ถากหรือขูดผิวเปลือกที่เป็นโรคออก แล้วทาแผลด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ได้แก่ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 80-100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร เมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50-60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือเมทาแลกซิล+แมนโคเซบ 65% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร โดยทาแผลทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง
          นอกจากนี้ หากพบใบเหลืองทั้งต้น ให้ราดโคนต้นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือเมทาแลกซิล 25% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยร่วมกับการใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% เอสแอล ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยาแล้วฉีดเข้าลำต้น ส่วนต้นทุเรียนที่เป็นโรครุนแรงมากหรือยืนต้นแห้งตาย ให้ขุดออกแล้วนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก จากนั้นให้ใส่ปูนขาวและตากดินไว้ระยะหนึ่งแล้วปลูกใหม่ทดแทน
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรชาวสวนทุเรียน สามารถขอคำแนะนำ ขอรับเชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือต้องการเรียนรู้การผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มา เพื่อป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า และโรคที่เกิดจากเชื้อรา ได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือสำนักงานเกษตรอำเภอ ได้ในวันและเวลาราชการ


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar