ศรชล.ภาค 3 ระดมความเห็นจัดทำ SOP รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ หลังยกเลิกระบบ Test & Go คาดช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวหลังโควิด

นาวาเอก ธรรมวรรต มาลัยสุขรินทร์ รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดภูเก็ต (รอง ผอ.ศรชล.จังหวัดภูเก็ต) เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 หรือ ศรชล.ภาค 3 ได้มีการประชุมจัดทำ SOP (Standard Operation Procedure) สำหรับการรับเรือสำราญขนาดใหญ่ที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยทางทะเลฝั่งอันดามัน โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการรับเรือสำราญขนาดใหญ่ เข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลาย รวมทั้งยังมีแนวโน้มของการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในอีกไม่ช้านี้ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันกำหนดมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อให้รู้ว่าหน่วยงานไหนต้องปฏิบัติอย่างไรจนจบกระบวนการ ซึ่งจะต้องไม่ซ้ำซ้อนและประหยัดเวลา รวมทั้งสามารถควบคุมโรคไปพร้อมกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้

จากนั้น จะนำเสนอต่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อออกเป็นคำสั่งจังหวัดภูเก็ตประกาศใช้ต่อไป โดยผู้โดยสารที่จะลงจากเรือต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายมาจากบนเรือก่อน เพื่อประหยัดเวลา เพราะส่วนใหญ่จะใช้เวลาท่องเที่ยวเพียงประมาณ 6-10 ชั่วโมง เบื้องต้นกำหนดให้จอดเทียบท่าได้ที่ท่าเรือน้ำลึก แต่หากขนาดของเรือเกินกว่าที่จะเข้าจอดได้สามารถที่จะไปทิ้งสมอได้ที่บริเวณหน้าหาดป่าตอง แต่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศอีกด้วย โดยนักท่องเที่ยวสามารถท่องเที่ยวได้ทั่วทั้งเกาะภูเก็ต ไม่มีการกำหนดเส้นทางหรือซีรูท ส่วนมาตรการการเข้าเมืองให้เป็นไปตามที่ ศบค.กำหนด คาดว่าหากการจัดทำ SOP เสร็จสมบูรณ์ จะเป็น “ภูเก็ตโมเดล” ให้จังหวัดอื่นๆ นำไปใช้เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

สำหรับสถานการณ์ท่องเที่ยวทางทะเลฝั่งอันดามันด้วยเรือสำราญขนาดใหญ่ ก่อนสถานการณ์โควิด-19 มีเรือสำราญขนาดใหญ่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยนับเป็นอันดับ 8 ของภูมิภาคเอเชีย หรือประมาณ 200 เที่ยวต่อปี พานักท่องเที่ยวขึ้นมาท่องเที่ยวบนเกาะภูเก็ตจำนวน 4 แสนคน สร้างรายได้คิดเป็นมูลค่า 800 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ในช่วง 2 ปีของการแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่มีการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วยเรือสำราญขนาดใหญ่ ส่งผลให้รายได้เป็นศูนย์ ซึ่งในอนาคตอันใกล้ คาดการณ์ว่า จะมีเรือสำราญขนาดใหญ่เดินทางมาท่องเที่ยวทางทะเลฝั่งอันดามันจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเทียบเท่าก่อนเกิดสถานการณ์โควิด - 19

อย่างไรก็ตาม นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในการเปิดพื้นที่การท่องเที่ยวทางทะเลฝั่งอันดามัน (Andaman Blue Zone) ซึ่งรัฐบาลมีแผนประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 และการกลับมาเปิดให้บริการเต็ม 100 % ของผู้ประกอบการเรือสำราญขนาดใหญ่ บวกกับสถานการณ์ความตรึงเครียดทางด้านยุโรปและรัสเซีย จะทำให้นักท่องเที่ยวหันมาท่องเที่ยวทางเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น และในเดือนมิถุนายนนี้จะมีเรือสำราญขนาดใหญ่ของเรือของบริษัท Royal Caribbean International มีกำหนดเดินทางมานำนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวยังประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเรือสำราญที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 4,188 คน ซึ่งถือเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการด้านต่าง ๆ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไป


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar